เจ้ากรรม –นายเวรที่แท้จริง

เจ้ากรรม นายเวรที่แท้จริง

มีโยมท่านหนึ่งตังคำถามว่า  เจ้ากรรม  นายเวร  มีจริงหรือไม่  อาตมาตอบว่า  มีจริง  โยมได้ถามต่อว่า  ท่านรู้ได้อย่างไร  ท่านเคยเห็นหรือ อาตมาตอบว่า  ใช่  อาตมาเคยเห็น และเห็นเป็นประจำ  เห็นทุกครั้งที่เดินผ่านกระจก  เมื่อได้ฟังคำตอบเช่นนี้  โยมก็ยิ่งงงไปใหญ่  ก่อนที่โยมจะสับสนและจินตนาการอะไรไปมากกว่านั้น อาตมาจึงได้อธิบายเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นนี้โดยสังเขปดังนี้

เมื่อพูดถึงคำว่า “เจ้ากรรม-นายเวร” คนส่วนมากจะมีทัศนคติในเชิงลบ โดยจะนึกถึงบุคคล หรือสัตว์ ที่เป็นต้นเหตุให้ตนได้ประสบกับชะตากรรมที่ไม่พึงปรารถนา เป็นต้นว่า เกิดความล้มเหลวในการประกอบอาชีพการงาน  ไม่ประสบความสำเร็จในการครองเรือน  เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ประสบอุบัติเหตุ หรือ ประสบภัยพิบัติต่างๆ  ในส่วนบุคคลนั้นอาจเป็นผู้ที่เกิดร่วมสมัยและเกี่ยวข้องกับตนในทางใดทางหนึ่งด้วยก็ได้ เช่น เป็นญาติ  เป็นเพื่อน  เป็นลูกน้อง  เป็นเจ้านาย อีกนัยหนึ่งก็หมายถึงบุคคลที่อยู่ในมิติพิเศษแตกต่างไปจากตน เช่น เทวดา วิญญาณ พระภูมิ เจ้าที่ ภูตฝีปีศาจ ฯลฯ ตามแต่จินตภาพที่คนๆนั้นได้สร้างขึ้นและผลักภาระไปให้  โดยสรุปก็คือเมื่อไรก็ตามที่ต้องประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนาเพราะใคร ก็จะเหมารวมเอาว่าคนๆนั้น หรือสัตว์ตัวนั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวร หากไม่มีคนหรือสัตว์ให้กล่าวพาดพิงได้  เจ้ากรรมนานเวรก็จะเป็นบุคคลหรือสิ่งที่อยู่ในอีกมิติพิเศษตามที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น  ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยภายนอกตนทั้งสิ้น  เป็นการโยนความผิดใหคนอื่น         ชึ่งนอกจากขาดความเป็ธรรมแล้ว  ยังเป็นเหตุให้มองข้ามเจ้ากรรม นายเวรตัวจริงไปด้วย

คำว่า เจ้ากรรม นายเวร  ในทัศนะของอาตมาจึงไม่ได้เกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งภายนอกเลย  แต่หมายถึง ตัวเรานั้นเอง  เพราะไม่ว่าจะถือเอาความหมายตามรูปศัพท์หรือตามพฤติกรรม คำตอบก็เป็นเช่นนั้น  เช่น “เจ้ากรรม”  คำว่า “เจ้า” โดยความหมายบ่งบอกว่าได้แก่ “ผู้ที่เป็นใหญ่ หรือเป็นเจ้าของ”*    คำว่า “กรรม” หมายถึงการกระทำด้วยเจตนา  ดังนั้น เจ้ากรรม จึงแปลรวมกันว่า  ผู้เป็นเจ้าของการกระทำที่สมบูรณ์พร้อมด้วยเจตนา  ส่วน นายเวร คำว่า “นาย” โดยความหมายก็คือ  “ผู้เป็นใหญ่  หรือเป็นเจ้าของ”*  คำว่า “เวร” แปลว่า “ความพยาบาท,ความปองร้าย”* เมื่อรวมความแล้วสามารถแปลได้ว่า ผู้ที่เป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าของความพยาบาท ความปองร้ายเป็นต้น

จากความหมายที่กล่าวข้างต้นทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า คำว่า เจ้ากรรม แท้จริงแล้วคือตัวเรานั้นเอง  เพราะเราสร้างกรรมใดขึ้นก็เป็นเจ้าของกรรมนั้น สร้างกรรมดี ก็เป็นเจ้ากรรมดี สร้างกรรมชั่ว  ก็เป็นเจ้าของกรรมชั่ว และเป็นผู้ต้องรับหรือเสวยผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดั่งพุทธวจนะที่ว่า “กมฺมุนา  วตฺตตี โลโก  สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”  ดังนั้นเมื่อชีวิตต้องเผชิญกับมรสุมหรือเหตุการณ์ใดๆที่ไม่พึงปรารถนา ก่อนจะเพ่งหาสาเหตุไปที่ปัจจัยภายนอก ควรสำรวจปัจจัยภายในคือพฤติกรรมของตัวเองก่อนว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่นั้นมีสาเหตุมาจากกรรม คือการกระทำของเราหรือไม่   หากใช่ ก็ต้องรีบตัดกรรมด้วยการเลิกพฤติกรรมนั้นเสีย ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ใช้ตัดกรรมได้ และสามารถทำได้ทันทีด้วยตัวเราเอง  โดยไม่ต้องผ่านพิธีใดๆให้เสียเวลาหรือสิ้นเปลืองเงินทองอย่างที่คนส่วนหนึ่งชอบทำกัน   เมื่อพฤติกรรมยุติ  กรรมก็หยุด  ความเป็นเจ้าของกรรมก็ไม่เกิดขึ้น  ถึงแม้ยังจำเป็นต้องรับผลจากกรรมที่ทำมาก่อนหน้านี้  แต่ระยะเวลาก็จะสั้นลงเพราะห่วงโซ่หรือความต่อเนื่องของกรรมได้ถูกตัดทอนลง  เปรียบได้กับการทานอาหารที่มีรสเผ็ด  หากเราไม่หยุดทาน  ความแสบร้อนหรือทุกข์ทรมานที่เกิดจากรสเผ็ดก็จะเกิดอย่างไม่มีวันจบสิ้น   เมื่อเราหยุดทาน  จุดสิ้นสุดของความทุกข์ทรมานเพราะความเผ็ดก็จะปรากฏ  เพราะเมื่อรสเผ็ดจากอาหารที่เราทานเข้าไปแล้วเจือจางหรือหมดลง  ความเผ็ดก็จะสิ้นสุด  เนื่องจากวงจรของรสเผ็ดได้ถูกตัดโดยการที่เราหยุดทาน  ความทุกข์ทรมานจากรสเผ็ดก็จะหมดไปด้วย

ส่วนคำว่า นายเวร  ก็เช่นเดียวกัน  ไม่มีใครสามารถก่อเวรแก่เราได้นอกจากเราก่อขึ้นด้วยตัวเราเอง  ทุกครั้งที่เราคิดพยาบาท  ปองร้ายใคร  เราก็เป็นนายเวร คือเป็นเจ้าของความอาฆาตพยาบาท ป้องร้ายนั้นในทันที  และเกิดผลคือความทุกข์  ความทรมานทั้งทางกายและใจในทันทีเช่นกัน หลายท่านอาจจะแย้งว่า  แล้วคนที่เขาอาฆาตพยาบาท ปองร้ายเราละ ไม่เรียกว่านายเวรเราหรือ  อันที่จริงคนที่มีพฤติกรรมเช่นนั้นไม่ได้เป็นนายเวรเรา  แต่เขาเป็นนายเวรของเขา คือเป็นเจ้าของความอาฆาตพยาทที่เขาได้สร้างขึ้น และต้องทุกข์ทรมานเพราะเวรนั้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดตราบใดที่ยังไม่ละความคิด  ข้อควรละวังก็คือเราอย่าไปก่อเวรตอบ  หากเราก่อเวรตอบ ความทุกข์ ความเดือดร้อน อย่างรุนแรงจะเกิดขึ้นทั้งกับทั้งสองฝ่าย  เพราะเมื่อสองนายเวรปะทะกัน ย่อมเหมือนกับโจรสองคนมีอาวุธครบมือปะทะกัน  ความวิบัติอย่างใหญ่หลวงย่อมเกิดขึ้น ในกรณีเช่นนี้ให้เราใช้สติ ใช้ความเมตตา และการให้อภัย เป็นเครื่องมือในการต่อสู้หรือเอาชนะ ซึ่งความเมตตา การให้อภัย อาจโน้มจิตที่หยาบกระด้างของบุคคลนั้นให้อ่อนโยนลง จนสามารถเปลี่ยทัศนคติจากศัตรูให้กลายเป็นมิตรได้  หากความดีไม่อาจดึงจิตเขาได้ เราก็ต้องหันมาดูแลรักษาตัวเองด้วยการเจริญสติให้มากหากจำเป็นต้องอยู่ใกล้หรือร่วมงานด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตราย หรือเพื่อแก้ไขสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นสืบเนื่องจากบุคคลนั้น  แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องจำไว้คือ  “อย่าผูกโกรธตอบ”  เพื่อเป็นการตัดวงจรแห่งเวร ต้องถือคติว่า  “เราไม่อาจห้ามบุคคลอื่นไม่ให้ โกรธ เกลียด อาฆาต พยาบาท หรือปองร้ายเราได้  แต่เราสมารถห้ามจิตของเราไม่ให้สร้างอารมณ์เช่นนั้นขึ้นมาได้”

ด้วยเหตุนี้ คำถามที่ว่า เจ้ากรรม นายเวร มีจริงหรือไม่ จึงเป็นคำถามที่ตอบได้ง่ายมาก  เพราะตราบใดที่เรายังไม่สามารถควบคุมจิตให้อยู่เหนืออำนาจการสั่งการของกิเลสได้ ยังคงก่อพฤติกรรมตามอำนาจของกิเลส    ทุกครังที่ส่องกระจกเราก็จะยังเจอกับ  เจ้ากรรมอยู่เสมอ  แล้วแต่ว่าจะเป็นการสั่งการของกิเลสฝ่ายไหน  หากมาจากกิเลสฝ่ายอกุศล ก็จะเจอกับเจ้าแห่งกรรมไม่ดี หรือเจ้าอุกศลกรรม   หากเกิดจากการผลักดันของกิเลสฝ่ายดี  ก็จะเจอกับเจ้ากรรมดี  หรือเจ้ากุศลกรรม   ดังนั้น  เมื่อยากที่จะหนีต่อการเป็นเจ้ากรรมก็จงพยายามเป็นเจ้าแห่งกรรมดีให้มากที่สุด  เพื่อให้กรรมดีที่สร้างเป็นฐานพัฒนาจิตสู่ความเป็นคนเหนือกรรมเหนือเวร อย่างมั่นคงในเร็ววัน

โสตฺถิ  เต  โหตุ  สพฺพทา

หมายเหตุ  ประโยคที่มีเครื่องหมาย*  เป็นข้อมูลจากหนังสือพจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ. ๒๕๒๕

12  ตุลาคม  2555

0 Comments

Add a Comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.